ชีวิตอยู่ - "ที่อื่น"

บทวิจารณ์โดย รักชวนหัว

ไม่รู้เป็นเพราะเพิ่งอ่านอาจารย์ธเนศ พูดถึง Kiran Desai ในนิตยสารอ่านฉบับปฐมฤกษ์หรืออย่างไร เราถึงได้คิดว่า “ที่อื่น” ในประโยคสั้นๆ อันเป็นชื่อนิยายของคุนเดอระ ชีวิตอยู่ที่อื่น (ซึ่งถูกอ้างถึงในบทความชิ้นนั้น) ถึงเป็น “ที่อื่น” เดียวกันกับรวมเรื่องสั้นของกิตติพล สรัคคานนท์

“ชีวิตอยู่ที่อื่น” จริงๆ เพราะในรวมเรื่องสั้นชุดนี้มีไออวลแห่งความตายหนาแน่นไปหมด

แปลกมากหากมองว่าประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ เมืองแห่งศาสนาที่สั่งสอนสาธุชนให้ตระหนักถึงความไม่เที่ยงแท้แห่งชีวิต แต่เรากลับมีวรรณกรรมที่เล่นกับประเด็นความตายน้อยเหลือเกิน ที่ใกล้เคียงสุดเท่าที่นึกได้ตอนนี้คือชุดเรื่องสั้นผีของครูเหม เวชกร กระนั้นก็มีช่องว่างมหึมาระหว่างความตายในผลงานของครูเหม และกิตติพล สรัคคานนท์

ผีคือชีวิตหลังความตาย ความตายของครูเหมคือกำแพงซึ่งกั้นสิ่งมีชีวิตสองประเภทออกจากกัน (โดยทางขนบ ประเภทหลังมักมีอิทธิฤทธิ์เหนือกว่าประเภทแรก) ประสบการณ์ผีคือเมื่อพวกเขามาสบหน้าโดยบังเอิญตามรอยแยกบนกำแพง ในทางตรงกันข้าม ความตายของคุณกิตติพลคือการสิ้นสุด “อนาคตคือสิ่งที่เราไม่มีวันล่วงรู้ มันเป็นช่องว่างมหึมาที่วางอยู่เบื้องหน้าเรา ขณะที่อดีตคือหลุมดำที่ดึงดูดทุกอย่างในช่วงเวลาที่เรามีชีวิตกลับเข้าไป ความตายจึงเป็นการบรรจบกันระหว่างหลุมดำและช่องว่างนี้” (หน้า 87) กล่าวคือเมื่ออนาคตจมหายไปในหลุมดำ ก็หมายถึงการสิ้นสุดนั่นเอง

ดังนั้นแม้จะมี 12 เรื่องสั้นในที่อื่น แต่ก็มีเรื่องสั้นเดียวที่เป็นเรื่องผี คืนหนึ่งกล่าวถึงผู้ชายที่เจอผีในบ้านพักตากอากาศ เนื้อเรื่องง่ายๆ เหมือนประสบการณ์ผีที่หาอ่านได้ทั่วไป ข้อแตกต่างคือสิ่งที่น่ากลัวในคืนหนึ่ง ไม่ใช่ผี แต่เป็นความตาย “แรงกระตุกของความกลัวสามารถสั่นพ้องถึงความตาย…ความกลัวจึงมักเป็นเพียงภาพเสนอในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งทำให้เราตระหนักได้ถึงความตาย” (หน้า 38) ตอนท้ายเรื่อง “เขา” ไม่ได้ขนลุกขนพองเพราะพบเจอผู้คนจากภพหลัง แต่เพราะเขาตระหนักว่าครั้งหนึ่ง ตัวเองได้เฉียดใกล้ และได้ถูกรายล้อมไปด้วยความตาย

ความตายคงเป็นนามธรรมเก่าแก่ และสากลสุดของมนุษยชาติ ทุกภาษา ทุกวัฒนธรรมคุ้นเคยกับความตาย เพราะมนุษย์ต้องการบรรเทาความโศกเศร้าอันเนื่องมาจากความสูญเสีย มนุษย์จึงสร้างวัตถุสมมติมาใช้อธิบายความตาย ผีคือหนึ่งในวัตถุสมมติ หรือรูปธรรมที่ว่า (แม้แต่ชนเผ่าพื้นเมืองในแอฟริกาก็ยังมีความเชื่อเรื่องวิญญาณ) ถ้าเอาแนวคิดเชิงสัญศาสตร์มาใช้วิเคราะห์ที่อื่น เราจะเห็นเจตนาของคุณกิตติพลในการแยกความตายออกจากสัญลักษณ์ปรุงแต่งจนเหลือเพียงนามธรรมล้วนๆ ถ้วนๆ ตัวอย่างเช่นภาพปรากฎ เล่าถึงชายหนุ่มผู้หลงวนเวียนอยู่ในรูปธรรมของความตาย พิธีศพ ข้าวของของผู้ตาย ความตายของคนใกล้ตัวอย่างพ่อจึง “เป็นเพียงความแปลกแยกที่ไม่เกี่ยวข้องกับใครคนใดเลย” (หน้า 72) (ระยะนี้เหมือนจะได้อ่านเรื่องสั้นทำนองนี้อยู่ไม่น้อยเช่น เสียงเรียกจากเพื่อนเก่า ของอุทิศ เหมะมูล งานศพอา ของจิตสุภา)

บางครั้งสัญลักษณ์ของความตายก็นำพาความรู้สึกน่าชิงชังประเภทอื่นมาแทนที่ความสูญเสีย เช่นถ้าเรามองศพเป็นรูปธรรมของความตาย เราจะเห็นความน่าเกลียดสยดสยองในความตาย ภายหลังอุบัติเหตุรถตกเขา ตัวเอกเรื่องเข้าเมืองพาผู้อ่านเยี่ยมชม “อุทยานแห่งความตาย” ศพแล้วศพเล่ากองกระจัดกระจายในสภาพเละเทะ “สิ่งที่อยู่ภายในตัวออกไปอยู่ด้านนอกและสิ่งที่อยู่ด้านนอกกลับเข้าไปด้านใน” (หน้า 22) กระทั่ง “สภาพที่ดีที่สุดคือร่างของชายหนุ่มหญิงสาวคู่หนึ่งซึ่งปราศจากศีรษะ” (หน้า 23) ผู้เขียนบรรยายความน่าสยดสยองด้วยน้ำเสียงราบเรียบ “เขา” มองทะลุเปลือกนอกของความตาย และในขณะนั้นเอง “ความตายต่างหากที่กำลังจ้องมองเขาอยู่อย่างไม่วางตา” (หน้า 23)

อีกเรื่องสั้นที่กล่าวถึงสัญลักษณ์ของความตายอย่างมีอารมณ์ขันคือฆาตกรรม ว่าด้วยชายนิรนามถูกแยกจากครอบครัวขณะพาภรรยา และลูกไปดูหนัง เขาถูกชายสามคนไล่ต้อนไปยังทางเปลี่ยว และในเสี้ยววินาทีสุดท้ายแห่งชีวิต “เขา” ตระหนักว่าอีกไม่นานตนจะกลายเป็นเพียงปริศนา ให้นักสืบ ตำรวจมาค้นหาในภายหลังว่าใครเป็นผู้ฆ่า ในที่นี้คือการยั่วล้อขนบของอาชญนิยาย (ที่นักอ่านไทยน่าจะคุ้นชินกันดี) ซึ่งแม้จะเต็มไปด้วยความตาย หากเป็นเพียงความตายเชิงสัญลักษณ์ในรูปแบบของ “ฉากฆาตกรรม บาดแผล และร่องรอยต่างๆ ” (หน้า 79) คุณกิตติพลกำหนดให้หนึ่งในผู้จู่โจมเป็นชายผมขาวผู้มี “ความสามารถในการใช้ภาษาอันจำกัด” (หน้า 78) และไม่สามารถอธิบายให้ “เขา” เข้าใจได้ถึงเหตุที่ตนถูกทำร้าย เหมือนจะเพื่อตอกย้ำปริศนาของความตาย

เรื่องสั้นที่ดีสุดในเล่มคือเรื่องขึ้นปก ที่อื่น ชายนิรนามเดินชมน้ำตกกับหญิงสาวแปลกหน้า จู่ๆ หล่อนหายตัวไป และเขาก็นำเหตุการณ์ดังกล่าวไปแจ้งตำรวจ เรื่องขึ้นต้น ดำเนิน และลงท้ายอย่างราบเรียบ แต่กลับแฝงนัยน่าขนลุก ประหนึ่งหากผู้อ่านได้สบสายตาผู้เขียน คงเห็นประกายแวววับอันจับต้องเป็นคำพูดไม่ได้ แม้แต่นายภาษายังมี “ความสามารถในการใช้ภาษาอันจำกัด” เฉกเช่นเดียวกับคนร้ายในฆาตกรรม แม้แต่นักเขียนก็ยังไม่อาจใช้ภาษาปั้นแต่งความได้ทุกประเภท วิธีสื่อความเหล่านั้นจึงต้องอาศัยการเล่าเรื่องแฝงนัย หรือเล่าเรื่องระหว่างบรรทัด ซึ่งเป็นอาวุธของนักเขียนที่คุณกิตติพลหยิบจับมาใช้ได้อย่างถนัดถนี่

การรังสรรค์เรื่องสมมติสำหรับผู้อื่นคือการจำลองจักรวาลขนาดย่อมอันประกอบไปด้วยฉาก ตัวละคร และเหตุการณ์ สิ่งที่ผู้อ่านรับรู้คือทุกสิ่งซึ่งเกิดขึ้นภายในจักรวาลย่อยๆ นี้ ในทางตรงกันข้าม ผลงานของกิตติพล สรัคคานนท์คือจักรวาลอันเว้าแหว่ง เต็มไปด้วยองค์ประกอบอันมีบทบาทกับตัวละคร และการรับรู้ของผู้อ่าน หากองค์ประกอบเหล่านั้นเกิดใน “ที่อื่น” ตัวอย่างที่ชัดเจนสุดคืออีกเรื่องที่ยังไม่มีชื่อ พูดถึงลูกชายที่ออกเดินทางไปเที่ยวชายหาดกับเพื่อนหญิง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเขา และเธอ (ที่ไม่น่าใช่คนรัก) ราบเรียบเอื่อยเฉื่อยจนไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ และเมื่อกลับมาถึงห้องพัก เขาเพิ่งตระหนักว่าแม่ป่วยหนัก และใกล้จะตายตั้งแต่สามอาทิตย์ก่อน “ชีวิตอยู่ที่อื่น” และชีวิตก็ได้จบลงในที่อื่น (ซึ่งนอกเหนือการรับรู้ของตัวละคร และคนอ่าน)

เรื่องที่ขโมยมา และชั่วกาล มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แม้จักรวาลของทั้งสองเรื่องจะครอบคลุมทุกเหตุการณ์ แต่ด้วยวิธีสลับมุมมองทำให้คนอ่านเข้าใจอย่างซึมลึกว่า ขณะที่ความสนใจของเราจดจ่ออยู่กับตัวละครตัวหนึ่ง ชีวิตได้เกิดขึ้น และดับลงในที่อื่น จะเขียนเรื่องแบบนี้ได้ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ หากสักแต่สลับมุมมอง จะออกมาเป็นผลงานที่เล่นกับวิธีนำเสนออย่างไร้ชั้นเชิง ถ้าวิเคราะห์เรื่องที่ขโมยมาอย่างละเอียด เราจะเห็น “กับดัก” ซึ่งถูกโปรยทิ้งไว้เป็นระยะๆ เช่น “ดังนั้นเขาจึงได้แค่จินตนาการเลยเถิดไปถึงสิ่งกีดขวางเบื้องหน้า” (หน้า 9) “เธอเงียบไปครู่หนึ่งเหมือนสังหรณ์ใจว่ามีบางอย่างผิดแปลกไป” (หน้า 10) หรือ “ฝ่ายหญิงกวาดสายตาไปรอบๆ เหมือนพยายามมองหาบางสิ่งบางอย่าง หรือใครบางคนด้วยความกระวนกระวายใจ” (หน้า 10) ประโยคเหล่านี้กระตุ้นต่อมใต้สำนึกผู้อ่านว่าเรื่องนี้มีมากกว่าที่พบเห็น เรายังพบเห็นประโยคคล้ายๆ กันในอีกหลายเรื่องสั้นเช่น “ในกรอบบานประตูของห้องหัวมุมปรากฎเงารางๆ ของใครสักคนกำลังจ้องมองมาที่เขา” (ประโยคสุดท้ายของย่อหน้าแรกของที่อื่น) “เขาเลือกทำเพราะไม่มีเหตุผล…นี่คือคำอธิบายว่าทำไมเขาจึงมายืนอยู่ที่นี่ ณ เวลานี้” (ย่อหน้าแรกของการแสดง) “ต้องการอะไร แน่นอนเขาตอบไม่ได้” (หน้า 27) และอีกมากมาย

เทคนิกอีกประการอับประกอบเข้ามาเป็นการเล่าเรื่องแฝงนัยคือการใช้สรรพนาม ตัวละครของคุณกิตติพลไม่มีชื่อ เป็นเพียงบุรุษ สตรีนิรนาม “เขา” หรือ “เธอ” ไม่มีกระทั่งบุรุษที่หนึ่ง เพราะ “ผม” หรือ “ฉัน” ฟังดูใกล้ชิดกับคนอ่านเกินไป ตัวแสดงนำอันห่างเหิน ไม่มีที่มาที่ไป ชักชวนให้ผู้อ่านไขว่คว้า ถมช่องว่างด้วยตัวเอง จึงเกิดเป็นสภาพรับรู้ “ที่อื่น” ซึ่งอยู่นอกเหนือจักรวาลย่อมๆ ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น

ตัวละครนิรนามยังพอพบเห็นได้บ่อยๆ ในเรื่องสั้นไทย แต่ที่น่าทึ่งสำหรับที่อื่นคือความนิรนามของฉาก เกินครึ่งของเรื่องสั้นดำเนินเหตุการณ์บนท้องถนน ถ้ามิใช่ท้องถนนในเมือง ก็เป็นทางหลวงต่างจังหวัด ถนนเป็นบริเวณสาธารณะซึ่งคนธรรมดาได้มีโอกาสใกล้ชิดกับความตาย ภาพอุบัติเหตุ ซากรถยนต์คือโมทีฟที่ถูกนำมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า คุณกิตติพลมักเดินเรื่องช่วงงานเทศกาล วันหยุดยาวที่คนไทยเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุมากมายเป็นประวัติการณ์ นอกจากพื้นที่สาธารณะของความตาย ถนนยังเป็นสถานที่ซึ่งมิใช่สถานที่ เป็นช่องเชื่อมระหว่างสถานที่ คนไทยใช้เวลาส่วนใหญ่บนถนน แต่น้อยคนนักจะรู้สึกว่าชีวิตพวกเขาอยู่บนถนน ดังนั้นท้องถนนจึงรุนให้คนอ่านสัมผัสได้ว่า “ชีวิตอยู่ที่อื่น”

ถ้าจะมีบ้างที่ตัวละครไปถึงยังเป้าหมาย ปลายทางนั้นก็มักเป็นสถานที่นิรนามซึ่งไม่ค่อยมีใครรู้จัก เช่นน้ำตกซึ่ง “คนในละแวกนี้เท่านั้นที่รู้” (หน้า 55) หรือชายหาด “ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและไม่ค่อยมีใครพักค้างคืน” เมืองที่เป็น “ชุมทางรถไฟ รถไฟทุกขบวนที่แล่นผ่านจะต้องหยุดแวะแม้จะเพียงครูเดียวก็ตาม” ไม่ก็สถานพักตากอากาศซึ่ง “เก่าแก่และทรุดโทรมจนไม่มีทางเชื่อมโยงไปถึงภาพอดีตอันงดงามได้” (หน้า 35) เหล่านี้คือที่หมายอันยากนักจะให้คนอ่านเชื่อว่าตัวละครจะหยุดอยู่ที่นี่จริงๆ คงไม่ผิดนักหากบอกว่าตัวละครของกิตติพล สรัคคานนท์คือนักเดินทางที่ถูกบังคับให้เต้นไปตามชีพจรรองเท้าตลอดเวลา ตรงนี้แตกต่างจากผู้เล่าเรื่องในสารคดีท่องเที่ยวทั่วไป กรณีนั้น ผู้อ่านอาจสัมผัสได้ถึงความพึงใจที่ได้ออกเดินทาง แต่กับตัวละครของคุณกิตติพล เหมือนพวกเขาถูกบังคับให้ออกเดินทางไปเรื่อยๆ ค้นหาชีวิตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะ “ชีวิตอยู่ที่อื่น”

คำนำบรรณาธิการวาด รวี อ้างถึงว่าคุณกิตติพลเคยคิดจะใช้อนาลัย อันเป็นเรื่องสั้นสุดท้ายมาขึ้นปก ก่อนจะเปลี่ยนกลับมาใช้ที่อื่น เห็นว่าเป็นการสมควรยิ่งนัก "อนาลัย" ออกจะมีจริตจะก้านมากเกินไป ชื่อที่สงวนท่าทีอย่าง "ที่อื่น" ดูจะเหมาะกับผลงานชิ้นนี้มากกว่า (ไม่นับว่า อนาลัย อาจเป็นเรื่องสั้นที่อ่อนสุดในเล่มด้วย) อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นแค่เหตุบังเอิญ แต่การที่รวมเรื่องสั้นชิ้นนี้เคยมีชื่ออื่น ยิ่งทำให้เรานึกถึงผลงานของกุนเดอระเข้าไปใหญ่ ก่อนนิยายเล่มนั้นจะชื่อ ชีวิตอยู่ที่อื่น มันเคยใช้ชื่อ The Lyrical Age หรือ วัยกวี มาก่อน

ชีวิตอยู่ที่อื่น พูดถึงวัยหนุ่ม วัยสาว ส่วน ที่อื่น พูดถึงความตาย ที่สุดแล้วของการมีชีวิตอาจคือการสิ้นสุดชีวิตก็เป็นได้

No comments: