ที่อื่น : เล่ห์เพทุบายใหม่ (ให้เริงใจไปอีกทางหนึ่ง)

บทวิจารณ์โดย จิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร อ้างจาก Write

รวมเรื่องสั้น ที่อื่น ของ กิตติพล สรัคคานนท์ ตีพิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2550 ได้เกิดแรงสะท้อนกลับจากคนอ่านรวมทั้งบทวิจารณ์มีออกมาบ้างพอสมควร ส่วนใหญ่ กล่าวไปในทำนอง “นอกจากจะสะท้อนความว่างเปล่า สมยอม ดูดาย เคลื่อนไหลไปตามแต่ขนบสังคมจะพาไปได้อย่างชัดเจน (ชัดจนเกินกว่าจะเป็นเรื่องจริง) ยังได้ใช้คุณสมบัติและคุณประโยชน์ของเรื่องเล่า เรื่องแต่ง (มหรสพที่จงใจจัดแสดงขึ้น) สะท้อนถึงความหวังของชีวิต ชีวิตที่ทุกผู้สุดท้ายจบลงที่ความตาย (ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร ผู้แต่ง ผู้อาน)” อุทิศ เหมะมูล

หรือ คุณรักชวนหัว เขียนไว้ในเว็บบล็อกของเขาว่า “ประเด็นที่คุณกิตติพลชอบพูดถึง (อย่างน้อยในเล่มนี้) คือ ความตาย ซึ่งแทรกอยู่แทบทุกบท ทุกบรรทัด”

จริงหรือที่ตัวละครทั้งหมดในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ได้สะท้อนความว่างเปล่า สมยอม ดูดาย เคลื่อนไปตามขนบจะพาไป? และ จริงหรือที่ความตายที่แทรกไว้ตลอดทั้งเรื่องคือจุดมุ่งหมายปลายทาง?

ถ้าหากคำตอบคือ จริง รวมเรื่องสั้นเล่มนี้ก็ไม่มีอะไรที่ข้าพเจ้าจะต้องขุดคุ้ยหาคำตอบอีกต่อไป เนื่องจากรวมเรื่องสั้นในยุคสมัยนี้หรือจะเรียกอย่างเป็นทางการว่าร่วมสมัย มักจะกล่าวถึงประเด็นนี้อย่างมากมายอยู่แล้ว

แต่โชคดี คำตอบที่ข้าพเจ้าพบคือ ไม่จริง

ถึงแม้ว่าทุกคนล้วนต้องตายเป็นสัจธรรมของชีวิต แต่รวมเรื่องสั้นเล่มนี้กลับย้อนถามสัจ-ธรรมดังกล่าว ว่าจริงหรือที่ความตายเป็นจุดหมายปลายทางหรือคือจุดสิ้นสุด?(ทั้งต่อตัวชีวิตผู้ตายเอง และต่อคนรอบข้าง)

ก่อนอื่นขอกล่าวถึงลักษณะร่วมของตัวละครในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้เสียก่อน ตัวละครในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้มิได้มีลักษณะตัดขาดจากสังคมหรือความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนด้วยกัน(ระหว่างตัวละครกับตัวละคร)อย่างขาดสะบั้น ไม่เหลือใย ไม่อาจพูดได้เต็มคำว่า “ว่างเปล่า” หรือ “ดูดาย” นั่นก็เพราะ “คนที่เปล่าเปลี่ยวแปลกแยกที่สุดจึงจะกลัวความอาทรจากคนอื่น เพราะความอาทรจากคนอื่นนำไปสู่ความเป็นหนี้และการผูกสัมพันธ์” *(มุกหอม วงษ์เทศ จากบทกล่าวตามในรวมเรื่องสั้นรักแรก ของ ซามูเอล เบกเก็ทท์)

ตัวละครในเรื่องนี้มิได้กลัวการผูกสัมพันธ์กับตัวละครอื่นเลย ตรงกันข้าม ตัวละครกลับผูกสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือแม้แต่สถานที่อื่นเสมอๆ ในรูปแบบและการแสดงออกที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะนิสัยของตัวละครนั้นๆ เช่น “เขาจะโทรศัพท์ไปหาเธอ พูดคุยในเรื่องซึ่งทำให้เธอและเขาสบายใจ ส่วนเธอก็จะเล่าเรื่องเพื่อนร่วมแผนก พฤติกรรมแปลกๆของหัวหน้า” (เรื่องที่ขโมยมา หน้า 9) หรือ “เขาฝากลังกระดาษใบหนึ่งที่ภายในบรรจุเสื้อผ้าและหนังสือสองสามเล่มไว้กับร้านปะซ่อมยางของช่างแก่ๆ…ช่างชราแสดงท่าทางบ่ายเบี่ยงเหมือนจะไม่รับฝาก แต่ที่สุดก็ยินยอม” (เข้าเมือง หน้า 21) ที่เห็นได้ชัดคือตัวละครในเรื่อง ที่อื่น “เขา” เจอกับ “เธอ” หญิงสาวแปลกหน้าที่เขาพูดคุยอย่างสนิทใจ กระทั้งตามเธอไปที่น้ำตก ทั้งๆที่เขาใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวมาเป็นเวลานาน (เพียงเพราะเขาไม่ใช่คนช่างพูดช่างเจรจา—หน้า 53)

ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่าตัวละครต่างมี (หรือพยายามจะมี) ปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว

นอกจากนี้ผู้อ่านยังพอจะทราบอีกว่าตัวละครประกอบอาชีพอะไร มีความสัมพันธ์กันแบบไหน(สามี ภรรยา ชู้ หรือหย่าขาดจากกัน) บางเรื่องผู้อ่านยังทราบถึงรูปพรรณสัณฐานของตัวละครว่ามีลักษณะเช่นไร เช่น “เขาหย่าร้างกับภรรยาไปเมื่อปลายปีที่แล้ว เขาเป็นชายหนุ่มอายุสามสิบสองปี ผิวคล้ำ รูปร่างเล็ก มีสีหน้าและแววตาเหมือนจะมีความวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา จมูกที่แบนราบราวกับที่ราบลุ่มบนแผนที่ทางภูมิศาสตร์จมหายไปในโหนกแก้มทั้งสองข้าง มองด้านข้างใบหน้าของเขา จะแลดูคล้ายกับเนิ่นเตี้ยๆ สองสามเนินเหลื่อมซ้อนกันอยู่” (คืนหนึ่ง หน้า 31) อีกทั้งตัวละครต่างๆยังมีความทรงจำเป็นของตัวเอง และมักจะนึกย้อนกลับไปทุกครั้ง นี่จึงเป็นสิ่งยืนยันว่าตัวละครไม่ได้ว่างเปล่า

สิ่งทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าตัวละครดูดาย นั่นเป็นเพราะผู้อ่านตามไม่ทันการใช้น้ำเสียงหรือเสียงเล่าของผู้เขียน เหตุที่ผู้เขียนเลือกใช้น้ำเสียงในการเล่าในลักษณะเรียบเฉย สงวนท่าทีหรือละไว้นั้น ก็เพื่อที่จะกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดการโต้ตอบ สะท้อนกลับ ต่อยอด รุกเร้าอารมณ์และความรู้สึกในแต่ละคนนั่นเอง(และได้ผลเสียด้วย)

การลำดับความหมายของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้มิได้เป็นไปในทางเดียว(ลูกศรทางเดียว) กล่าวคือ ไม่ได้เริ่มต้นที่ 0 ไปหา 10 หรือ 10 ไปหา 0 รวมทั้ง ไม่ได้เริ่มจาก มีชีวิต ไปหา ความตาย หรือ จากความตาย ไปหา ชีวิต

แต่เป็นไปในลักษณะลูกศรสองทางหรือ การกลับไปกลับมา

และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ อยู่บริเวณลูกศรสองทางนั่นเอง

บริเวณลูกศรสองทางนี้เองที่ผู้เขียนให้สัญลักษณ์ คือ ถนน(รวมทั้งรางรถไฟ) อันหมายถึงลักษณะของการไป-กลับ

ความน่าสนใจที่ผู้เขียนหยิบถนนมาใช้นั้น มิใช่เพียงแค่แสดงถึงทางผ่านหรือแสดงว่าตัวละครไร้จุดหมายปลายทางเท่านั้นแต่ยังแสดงให้เห็นถึงการเจือจางความหมายของจุดเริ่มต้นรวมทั้งปลายทางได้อีกด้วย กล่าวคือ ถ้าเราเริ่มต้นจากปลายทาง เพื่อที่จะไปสู่อีกปลายทางหนึ่ง และจากปลายทางนั้นถ้าเราย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้น จุดเริ่มต้นนั้นก็คือปลายทาง การสลับไปมาของความหมายจุดหมายและปลายทางนี่เอง(หรือขั้วของคู่ในสิ่งอื่นๆ ดังจะกล่าวต่อไป) คือสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาในรวมเรื่องสั้น ที่อื่น

“ชีวิต คือ การนับถอยหลัง เพียงแต่ไม่รู้แน่ชัดว่าควรเริ่มจากจำนวนใด สำหรับเขา ชีวิตเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอีกเรื่องหนึ่งเสมอ” ภาพปรากฏ หน้า 72 (เน้นโดยผู้เขียนบทความ)

คำว่า อีกเรื่องหนึ่ง นั่นหมายความว่า มีอีก และอีกเรื่องนั้นก็คือ ความตาย

“เขารู้สึกว่าเรื่องเล่าในลักษณะนี้มีจุดจบเหมือนๆกันคือลงเอยที่ความตาย พร้อมกับความรู้สึกที่เศร้าสร้อยและหดหู่ แต่ในทางกลับกันเรื่องเล่าทำนองนี้ทำให้คนตายกลับมามีชีวิตอีกครั้ง อย่างน้อยก็ในความทรงจำของคนที่ยังต้องอยู่ต่อไป” (อนาลัย หน้า100)

นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้โปรยปรายสัญลักษณ์ที่แสดงถึงลักษณะของเลขคู่ หรือสิ่งสองสิ่งที่อยู่ระหว่างปลายลูกศรสองข้างเอาไว้ในทุกเรื่อง เช่น

ใช้บรรยากาศที่หมอกลงจัด อันเป็นช่วงระหว่างความคลุมเครือและความชัดเจน เช่น “เช้าวันนั้นหมอกลงหนาจัด ถัดจากสองสามก้าวออกไปหมอกสามารถบดบังการมองเห็นได้เกือบสมบูรณ์ ท้องถนนต้นไม้ ไหล่ทาง และบ้านเรือนซึ่งตั้งอยู่ห่างๆ จึงดูไม่มีความแตกต่างแต่อย่างใด สำหรับผู้ขี่ยวดยานผ่านเส้นทางดังกล่าว” (เข้าเมือง หน้า 19) (เน้นโดยผู้เขียนบทความ)

ใช้ฉากเวลาโพล้เพล้ อันเป็นเวลาเปลี่ยนผ่านระหว่างกลางวันกับกลางคืน เช่น ”ดวงอาทิตย์ทอแสงรำไรตรงขอบฟ้า เหมือนหยดน้ำผึ้งกำลังทิ้งตัวลงมาตามแรงโน้มถ่วง เพียงครู่เดียวดวงอาทิตย์ก็พลันเปลี่ยนเป็นสีชมพู” (ชั่วกาล หน้า 44) หรือ “ดวงอาทิตย์เพิ่งจะลับหายไปหลังทิวไม้ ประกายสีทองที่ปรากฏบนเส้นของหมู่เมฆที่จรดกับชายป่าดูเหมือนจะมีไฟลุกโชติช่วงอยู่ที่ใดสักแห่งหนึ่ง” (ภาพปรากฏ หน้า 68)

ใช้ฉากเวลาเช้ามืด อันเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากกลางคืนไปสู่กลางวัน เช่น “เขาได้ยินเสียงนกดุเหว่าร้องเป็นจังหวะซ้ำๆอยู่ไกลๆ นาฬิกาข้อมือบอกเวลาตีสี่ห้าสิบห้านาที” (คืนหนึ่ง หน้า 39)

นอกจากบรรยากาศแล้ว ผู้เขียนยังแทรกเลข 2 เอาไว้เป็นระยะๆ อีกทั้งยังระดมการใช้สัญลักษณ์ในเชิงคู่ขนานและคู่ตรงข้ามอยู่บ่อยครั้ง แต่ที่เห็นชัดเจนที่สุด จากเรื่อง คืนหนึ่ง เช่น ถนนขาดสองช่อง, เครื่องสายสองชิ้น, บ้านหลังนี้มีสองห้องนอน, ทรุดโทรม/งดงาม, งุนงง/กระจ่างชัด, บิดเบือน/ขยับขยาย,เหตุผล/เมามาย, ความฝัน/ความจริง เป็นต้น

ในมิติของเวลาก็ยังปรากฏลักษณะคู่ขนานระหว่างปัจจุบันกับอดีต ด้วยการให้ตัวละครระลึกถึงความทรงจำ เป็นการนำความมีชีวิตเข้าไปใกล้ชิดกับความตาย เช่น ความทรงจำของเขาเกี่ยวกับงานศพครั้งนั้นรางเลือนเต็มที เขาไม่อาจบอกได้ว่า เขารักแม่และเสียใจ เพียงแต่เขารู้แน่ชัดอย่างหนึ่งว่าถ้าแม่ของเขาตายลง ณ ตอนนี้ ความตายของแม่ย่อมมีความหมายแตกต่างจากตอนนั้นอย่างมากมายแน่นอน” (ภาพปรากฏ หน้า 70)

หรือแม้แต่คำว่า “ที่อื่น ที่แปลว่า ไม่ใช่ที่นี่ ไม่ใช่ตรงนี้ ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน เพียงแต่ไม่ใช่ตรงนี้” (คำนำ) ก็แสดงให้เห็นถึงแรงตีกลับไปกลับมา เหมือนกับคำว่า ที่อื่น คือลูกเทนนิสที่ถูกตีโต้กลับไปมาระหว่างสองฝั่ง

ถ้ายืนอยู่ฝั่ง “มีชีวิต” ที่อื่นจะถูกกระทบชิ่งไปที่ฝั่ง “ความตาย”

แต่ถ้ายืนอยู่ในฝั่ง “ความตาย” ที่อื่นจะถูกกระทบชิ่งไปที่ฝั่ง “มีชีวิต”

อย่างไรก็ตาม รวมเรื่องสั้นเล่มนี้บอกแก่เรา(ในระดับผิวเผิน) ว่า เส้นแบ่งระหว่าง “มีชีวิต” กับ “ความตาย” มิได้ชัดเจนเหมือนดังตาข่ายคั่นฝั่งในสนามเทนนิส หากมันคลุมเครือ เลือนราง คาบเกี่ยว บางครั้งอาจทำให้เข้าใจผิดไปได้ว่า ทั้งสองฝั่งล้วนทับซ้อนกันอยู่ในที (สังเกตได้ชัดเจนจากเรื่อง เข้าเมือง) นี่จึงอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้เขียนถึงไม่ใช้คำว่า อนาลัย นั่นก็เพราะ ทั้งสองฝั่งต่างยังพัวพันหรือสัมพันธ์กันอยู่อย่างแยกไม่ออกนั่นเอง

ถึงแม้ว่าเรื่องสั้นทั้งหมดในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้จะแสดงให้เห็นถึงความคาบเกี่ยว พร่าเลือน คลุมเครือของเส้นแบ่งระหว่างการมีชีวิตกับความตาย รวมทั้งสรรพสิ่งอื่นๆไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคำ บรรยากาศ สถานที่ และตัวละครที่เป็นลักษณะคู่ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่อีกด้านหนึ่ง กลับทำให้ผู้อ่านเห็นว่าเส้นคั่นฝั่งนั้นชัดเจนจนคมกริบ

ผู้เขียน(รวมทั้งผู้อ่าน)มีชุดความเข้าใจในฝั่งและเส้นแบ่งฝั่ง(ความมีชีวิตและความตาย)เป็นอย่างดีอยู่แล้วโดยประสบการณ์ในชีวิตจริง แต่ผู้เขียนจงใจเจือจางมันให้เลือนราง ด้วยการสร้างมหรสพแห่งชีวิตขึ้น(เรื่องแต่งทั้ง 12 เรื่องนี้) พร้อมมูลด้วยการแทรกสัญลักษณ์ของความคาบเกี่ยวและการกลับไปกลับมาเอาไว้ตลอดทั้งเล่ม(ดังที่วิเคราะห์มาข้างต้น)

การกระทำดังกล่าวมิใช่อะไรอื่น นอกเสียจากสะท้อนให้เห็นถึงความกลัวในจิตใจของมนุษย์ เมื่อรับรู้ถึงสัจธรรมของชีวิต(ไม่ว่ากลัวที่จะอยู่ หรือกลัวที่จะตาย สุดท้ายทุกคนก็ต้องตาย) แต่ก็บ่ายเบี่ยง หลีกเลี่ยง กลับไปกลับมา หรือแม้แต่ให้ความหมายใหม่ จนสัจธรรมนั้นเลือนราง ทั้งนี้ก็เพื่อปลอบประโลมใจ และทำให้ผู้อ่าน(หรือตัวผู้เขียนเอง)เริงใจไปอีกทางหนึ่งที่ตรงกันข้ามกับทางที่ตนไม่ปรารถนา

และการที่หนังสือเล่มนี้นำประโยคของ ลูเครทุส มาโปรยไว้ก่อนเข้าเรื่องว่า “...ความตายซึ่งทำให้เจ้าท้อแท้และบ่ายหน้าไปจากความเริงใจในอีกหนหนึ่งน่ะหรือ ก็ในเมื่อชีวิตที่จ้าใช้มาจนกระทั่งบัดนี้เป็นสิ่งล้ำค่า...แล้วใยเจ้าจะไม่หาตอนจบให้แก่มัน หรือเจ้าหวังจะให้ข้าคิดเล่ห์เพทุบายใหม่ขึ้นมาขึ้นมาเพื่อลวงเจ้า”

เป็นประโยคที่เตือนผู้อ่านอยู่กรายๆแล้วว่า รวมเรื่องสั้นที่จะได้อ่านต่อไปนี้เป็นเพียง เล่ห์เพทุบายใหม่ที่สร้างขึ้นมาเพื่อลวงให้ผู้อ่านไปอยู่ในอีกที่ทางหนึ่ง ทางที่เรียกว่า ที่อื่น นั่นเอง

No comments: