ที่อื่น: วิเวกวิถี มนุษย์บนเวที (ภาระของชีวิต ธุระของความตาย)

บทวิจารณ์โดย อุทิศ เหมะมูล อ้างจากโอเพ่นออนไลน์

“คราวนี้มันจะเป็นการเดินทางไปสู่ดินแดนที่ไม่รู้จัก ไปสู่ดินแดนภายในตัวผม และในใจกลางของเยอรมนี ผมรู้ว่าผมต้องการอะไร แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร จากนั้นเอง ทุกสิ่งก็เริ่มต้นด้วยภาพภาพหนึ่ง”

Wim Wenders, The Logic of Images

อ้างจากหนังสือ ฟิล์มไวรัส: คู่มือผู้บริโภคหนังนานาชาติ หน้า 72

วิม เวนเดอร์ส คือผู้กำกับเยอรมันคนสำคัญในกลุ่ม New German Cinema (1960 – 1980) ซึ่งปัจจุบันเขายังคงสร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง หนังหลายเรื่องของเวนเดอร์สมีลักษณะเฉพาะตัวจนกลายเป็นเอกลักษณ์ อันเกี่ยวกับ ‘ตัวหนัง’ ที่เริ่มต้นออกตามหา ‘ตัวเรื่อง’ หนังของเวนเดอร์สเริ่มต้นที่ภาพภาพหนึ่ง ที่ไหนสักแห่ง เมื่อตัวละครก้าวเข้าเฟรมมา เขาเริ่มออกตามหาเรื่องราวของเขา พร้อมๆ กันนั้นตัวหนังก็ออกตามหาเนื้อเรื่อง (ซึ่งไม่เคยมีอยู่ก่อนในฐานะบทภาพยนตร์) ตัวละครเผชิญหน้ากับสถานที่แปลกตา ค้นหาตัวเองจากตำแหน่งที่ตนลัดเลาะเดินทางผ่านไป ภาพภูมิทัศน์ค่อยๆ สร้างชีวิตของเขาขึ้น ด้วยเรื่องราวและเศษเสี้ยวหลากหลาย จนสุดท้ายเขาค้นพบจุดหมายในตัวเอง

ยกตัวอย่างเช่น ในหนังขนาดยาวเรื่องแรกของเวนเดอร์ส Summer in the Cty (1971) ตัวหนังบันทึกภาพตึกรามบานช่อง ท้องถนน จัตุรัส ตรอกซอย และคูคลองในมหานครเบอร์ลิน ผ่านสายตาของฮานซ์ ตัวละครเอกซึ่งถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำหลังผ่านไปสองปี คนดูไม่รู้อะไรเกี่ยวกับฮานซ์ เขาเองก็ไม่ช่างพูด เราเพียงได้แต่จับจ้องเขา ผ่านการกระทำในชั่วขณะปัจจุบัน เขาเร่ร่อน ไร้หลักแหล่ง มีคนรู้จักอยู่บ้าง หลักฐานเหล่านี้ได้เผยอดีตบางอย่าง ไม่ใช่ผ่านทางคำพูด แต่ผ่านทางภาพที่เห็น ภาพที่ว่านั้นคือส่วนเสี้ยวต่างๆ ของนครเบอร์ลิน เมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เขาถูกจำคุกสองปี เต็มเปี่ยมด้วยความรู้สึกแปลกแยก ถูกทำให้เป็นอื่น และตอนนี้เมืองบ้านเกิดจ้องมองมาที่เขา ปฏิสัมพันธ์ระหว่างการเผชิญหน้าทำให้เกิดภาวะเข้มข้นของทั้งสองฝ่าย เมืองมองเขาอย่างเป็น ‘คนอื่น’ เขามองเมืองอย่างเป็น ‘ที่อื่น’

อย่างเลวร้ายที่สุด ตัวละครในหนังของเวนเดอร์สยังได้รับโอกาสในการตั้งต้นชีวิตใหม่ ขณะที่หลากตัวละครในรวมเรื่องสั้น ที่อื่น ได้รับการเริ่มต้นใหม่ก็หลังจากสิ้นชีพแล้ว ในฐานะ ‘เกิดใหม่’ ภายหลังการตระหนักรู้ภาวะดับสูญจากความว่างเปล่าและเฉยชาเมื่อครั้งยังดำรงชีวิต

ผู้เขียนบทความเกริ่นนำถึงผู้กำกับชาวเยอรมันกับหนังของเขา เพราะมองเห็นความสอดพ้องประการหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้เข้าใจกลวิธีการเล่าเรื่องในเรื่องเล่าที่มีความเป็นไปได้อยู่หลากหลายแนวทาง รวมเรื่องสั้นที่อื่น ของกิตติพล สรัคคานนท์ ให้สัมผัสทางสุนทรีย์ที่แปลกต่าง ด้วยสัดส่วนของความโดดเด่นที่แท้จริง หรือตัวละครนำในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ ไม่ใช่บุคคล แต่คือบรรยากาศของสถานที่

สถานที่หนึ่ง ภาพภาพหนึ่ง ปรากฏการณ์หนึ่ง ซึ่งค่อยๆ เปิดเผยให้เห็นอยู่เบื้องหน้า (ผู้อ่าน) เป็นเสมือนลานเวทีที่กำกับพฤติกรรมของตัวละครไร้นาม ไร้ใบหน้า มีเพียงสรรพนามเรียกที่เราคุ้นเคยกันดีกว่า เขา กับ เธอ ตัวละครไม่เชิงว่าไร้อดีต ส่วนปัจจุบันของเขา/เธอก็เป็นเรื่องที่น่าสั่นไหว และอนาคตก็เป็นเรื่องที่น่าอ่อนอกอ่อนใจยิ่งกว่า ในแต่ละเรื่องสั้นมีปรากฏการณ์สั้นๆ หนึ่งชุด ที่ซึ่งตัวละครต้องมาพบจุดจบลงด้วยความสะท้อนใจ วัฏฏะของตัวละครเสมือนติดหล่มอยู่ในเมืองต้องสาป เข้มข้นด้วยสภาวะถูกทอดทิ้ง อบอวลด้วยความรู้สึกเดียวดายชาชิน

เหล่าตัวละครมีความเป็นอื่น หรือถูกทำให้เป็นอื่น?

หลากสถานที่มีความเป็นที่อื่น หรือถูกทำให้เป็นที่อื่น?

หรือคนกับสถานที่ก่อปฏิสัมพันธ์จนทำให้เกิดภาวะ คนอื่น-ที่อื่น ต่อกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสถานที่ในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ มีนัยยะความหมายโต้ตอบสัมพัทธ์กันอย่างน่าตีความ เฉพาะอย่างยิ่งการตั้งชื่อรวมเรื่องสั้นว่า ‘ที่อื่น’ กับหลากตัวละครไร้นาม และสถานที่ซึ่งระบุตำแหน่งที่ตั้งไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นแต่ละเรื่องสั้นจากทั้งหมด 12 เรื่อง ก็โต้ตอบกับสำนึกรับรู้ของผู้อ่านในแง่ที่ว่า แม้ไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นที่ไหน แต่ทั้งหมดเกิดขึ้นในประเทศไทย บริเวณภาคกลางเลาะเลียบไปทางภาคใต้ แคบเข้าอีกคือบริเวณชานเมืองอันเงียบสงบ กับชีวิตผู้คนที่วนเวียนกับกิจกรรมซ้ำเดิม แม้หากต้องเจอหรือเอาตัวเข้าไปข้องเกี่ยวกับปรากฏการณ์เฉพาะหน้า เหล่าตัวละครก็จัดการกับปรากฏการณ์เฉพาะหน้านั้นด้วยทำให้เป็นเรื่องคุ้นชินแสนสามัญ ดังว่าชีวิตของตัวละครนั้น (ถูกกำหนดมาก่อนหน้านี้แล้ว) แผดเผาเรื่องราวและหลอมละลายปรากฏการณ์ ให้กลายสภาพเป็นเรื่องสามัญแสนชาชิน เย็นชา และดูดาย

ในเรื่องแรก เรื่องที่ขโมยมา สถานที่ตั้งเรื่องราวคือบนถนนเกิดการจราจรติดขัด ทุกคนต่างคาดคะเนว่าเบื้องหน้าคงมีอุบัติเหตุบนท้องถนน ตัวละครเขา โทรหาหญิงสาวคนรัก เธอ ซึ่งทำงานอยู่ห้างสรรพสินค้า ระหว่างนั้นเขาถูกตำรวจเรียกตรวจใบขับขี่ ตำรวจเห็นบัตรซึ่งมีตราสัญลักษณ์บางอย่าง จึงโค้งคำนับและรีบปล่อยเขาไป เรื่องจบลงเพียงเท่านี้แล้วขึ้นเรื่องใหม่ เกี่ยวกับคู่สามีภรรยาวัยกลางคนขับรถบนท้องถนนที่ติดขัดเช่นกัน ฝ่ายสามีทำงานสำนักงานกฎหมาย ฝ่ายภรรยาทำงานบริษัทขายปากกา ภรรยาเล่าเรื่องฆ่าเวลาระหว่างรถติดให้สามีฟัง เรื่องเล่านั้นเกี่ยวกับความตายที่น่าขัน (หรือถูกมองให้เป็นเรื่องขัน) วิถีหาเรื่องเริงรมย์จากความตายในเรื่องเล่านี้ ดำเนินต่อมาในเย็นของอีกวัน เมื่อสองสามีภรรยาขับรถกลับบ้านในเส้นทางเดิม ภรรยาเล่าถึงเหตุที่รถติดเมื่อวานว่า มีชายคนหนึ่งใช้ปืนฆ่าตัวตายในรถแท็กซี่หลังจากใช้ปืนกระบอกเดียวกันฆ่าภรรยาของเขาที่ห้างสรรพสินค้า เขาเป็นตำรวจและภรรยาของเขาเป็นพนักงานห้างสรรพสินค้า

ในเรื่องสั้นนี้มีชิ้นส่วนหรือเค้ารางให้ปะติดกันอย่างหลากใจ เขา ในตอนเริ่มเรื่อง (ผู้โทรหาหญิงคนรักที่ห้างสรรพสินค้า โชว์ตราสัญลักษณ์จนตำรวจต้องรีบปล่อยเขาไป ในเส้นทางที่เขาไม่คุ้นชินตอนบ่ายวันจันทร์) มีความเป็นไปได้ว่าคือ สามีนักกฎหมาย ผู้ลักลอบนอกใจภรรยา และความลับของเขานั้นถูกเปิดเผยผ่านเรื่องเล่าของภรรยา เขาเพียงแต่ดูดายที่ได้ฟัง (ในฐานะมีส่วนสัมพัทธ์ในเรื่องโศกนาฏกรรมสามเส้านั้นด้วย) และสนองตอบต่อความตายนั้นในฐานะเรื่องเริมรมย์ฆ่าเวลาระหว่างขับรถกลับบ้าน

ในรวมเรื่องสั้นที่อื่น พฤติกรรมตัวละครที่ตอบสนองต่อชีวิตอื่นๆ อย่างดูดาย และมองความตาย การสูญเสีย ในฐานะมหรสพนั้น มีสัดส่วนพอๆ กับ การหลงเลือน การไม่รู้สถานะ ตำแหน่งที่ตั้งของตัวเอง ดังจะเห็นได้จากเรื่องสั้นเรื่องเข้าเมือง และการแสดง

‘เขาเดินติดตามผู้ชายสองคนไปยังจุดเกิดเหตุ เขาไม่รู้เหตุผลแน่ชัดว่าทำไมจึงต้องไปที่นั่น เขาเดิน เขาคิด ทว่ายังไม่เข้าใจ’ (หน้า 21)

เข้าเมือง เล่าเรื่องชายคนหนึ่งนั่งรถสองแถวเพื่อเข้าไปในเมือง ในสภาพถนนที่หมอกลงจัด มีรถโดยสารอีกคันตีคู่กันมาพยายามจะแย่งผู้โดยสารกัน ในการรับรู้ของเขาเรื่องอย่างนี้เป็นปกติวิสัยของรถโดยสาร แม้จะเสี่ยงต่ออุบัติเหตุและความตาย และเขาก็รับรู้ว่ารถโดยสารอีกคันพุ่งตกเหวข้างทาง ส่วนรถที่เขานั่งได้จอดข้างทาง เขาลงจากรถเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ถือโอกาสเข้าสู่อุทยานความตาย (สถานที่เกิดเหตุ) ในฐานะมหรสพชนิดหนึ่ง เขาเดินตามชายแปลกหน้าสองคนที่เดินนำทางไปก่อน บรรยากาศความตายเข้มข้นห้อมล้อมเขา ไม่นานเขารู้แน่ชัดว่าชายแปลกหน้าสองคนนั้นคือวิญญาณที่จะข้ามไปอีกฟากฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ และวินาทีที่ชายแปลกหน้าหันมามองเขานั่นเอง จึงรู้ว่าตนเองก็เป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่ตายไปแล้ว เขาไม่รู้เลยว่าอยู่ฟากฝั่งหรือตำแหน่งใดจนความตายหันมาสบตากับเขา เรื่องสั้นเรื่องนี้อุดมด้วยชั้นเชิงการเล่าแบบสงวนท่าที เสนอภาพเปรียบและนัยยะคู่ตรงข้ามของชีวิตกับความตายอย่างมีเสน่ห์ การเล่นล้อกับความหมายชื่อเรื่อง เข้าเมือง อย่างแยบยล และเปี่ยมด้วยอารมณ์กวี

การแสดง ชายคนหนึ่งยอมตัวเข้าไปอยู่ในเกมการละเล่นของหญิงสาวแปลกหน้า ด้วยเธอขอร้อง(เตี้ยม)ให้เขามาปรากฏตัวที่โรงงานในฐานะคนรักของเธอ เพื่อว่าปัญหารักสามเส้าของเธอจะได้คลายความสงสัยและถูกสะสางจากบรรดาสายตาของเพื่อนร่วมงาน เขา ในฐานะคนแปลกหน้า นำตนเองเข้าไปในฐานะตัวละครบนเวทีชีวิตของเธอ ไม่ใช่มีเจตนาเพื่อช่วยเหลือ แต่เพื่อสนองความตื่นใจแก่ชีวิตร้างไร้ชีวาของตนเองที่แฝงน้ำเสียงดูดายอย่างร้ายกาจ ‘เขาเลือกทำเพราะไม่มีเหตุผล ไม่ใช่เพราะคิดหาเหตุผลไม่ได้ แต่เขาแค่อยากจะเริ่มทำอะไรในสิ่งที่ไม่มีเหตุผลชักจูงดูบ้าง ผลสำเร็จทั้งหมดไม่ได้อยู่กับตัวเขา และเขาก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบสำหรับความล้มเหลวใดๆ นี่คือคำอธิบายว่าทำไมเขาจึงมายืนอยู่ที่นี่ ณ เวลานี้’ (หน้า 25)

คืนหนึ่ง ชายวัย 32 หย่าร้าง เดินทางไปพักผ่อนที่บ้านพักชายทะเลในวันครบรอบคล้ายวันเกิดของเขา เขาหนีจากเวทีชีวิตมนุษย์เงินเดือน แต่ก็ต้องจับพลัดจับผลูมาอยู่ในเวทีที่เกิดฉากฆาตกรรมสยดสยองขึ้น ดังว่าชีวิตของเขามีเวทีให้ยืนอยู่เพียงไม่กี่แห่ง

ชั่วกาล เล่าถึงชายหนุ่มหญิงสาวซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ฝ่ายชายมีความโศกสูญนับอนันต์ในอดีตซึ่งทำให้ชีวิต ณ ปัจจุบันของเขาเต็มด้วยความอ้างว้างว่างเปล่าที่เลวร้ายกว่าความทุกข์ทรมาน ส่วนฝ่ายหญิงมีชีวิตระเหเร่ร่อนมาโดยตลอด จนรู้สึกว่าตนเองไม่เป็นของที่ใด จิตใจเธอเต็มเปี่ยมด้วยความโดดเดี่ยวไม่มีที่สิ้นสุด ในปัจจุบันทั้งสองอยู่ด้วยกัน และฝ่ายหญิงตระหนักว่าถึงเวลาที่เธอต้องโยกย้ายไปอยู่ที่อื่นอีกครั้ง

ที่อื่น ชายหนุ่มพนักงานขายตรงเดินทางไปต่างจังหวัด เข้าพักโรงแรมชั้นสองแห่งหนึ่ง เขาได้พบกับหญิงสาวแปลกหน้าในท้องที่ ทั้งสองพูดคุยกันอย่างถูกคอ เขาพึงใจที่ได้รับไมตรีจากหญิงสาวเจ้าถิ่น ส่วนเธอรู้สึกผูกพันด้วยว่า เขาหน้าตาคล้ายน้องชายที่เสียชีวิตไปแล้ว เธอชักชวนเขาออกนอกเมืองไปชมน้ำตก ในเส้นทางรกเรื้อซึ่งคนในท้องที่เท่านั้นรู้จักมักคุ้น เขาหลงกับเธอ จึงนำเรื่องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ แต่แล้วความเป็นห่วงอย่างสุจริตของเขากลับผูกมัดเขาให้กลายเป็นผู้ต้องหาในตอนท้าย

ในวันที่อากาศดี เล่าถึงภาพประทับสุดท้ายของชายชราที่ถูกรถชนอยู่บนถนนสายเปลี่ยว หลังกลับจากงานแต่งงานของลูกสาว เขากำลังจะตายและได้ระลึกย้อนกลับไปถึงวันแสนงามที่ตนกับลูกสาวมีต่อกัน

ภาพปรากฏ นำเสนอภาพชีวิตจำเจ เฉื่อยเนือย ที่แม้ความตายได้บังเกิดขึ้นกับคนในครอบครัวก็ไม่ได้ทำให้ใครเปลี่ยนแปลงไป ‘ดูเหมือนความตายของพ่อจะเป็นเพียงความแปลกแยกที่ไม่เกี่ยวข้องกับใครคนใดเลย’ (หน้า 72) เขา ลูกชายคนกลาง จัดการกับบ้านช่องและข้าวของน้อยชิ้นของพ่อ อันเป็นสิ่งของยังประโยชน์ให้กับน้องชายและพี่สาว เรื่องนี้นำเสนอภาพชีวิตที่ต้องดำเนินต่อไปของบรรดาลูกๆ ด้วยความรู้สึกเฉยชา มีเพียงเขา ลูกชายคนกลางที่ตระหนักคิดได้ว่า แท้แล้ว ‘ชีวิตคือการนับถอยหลัง เพียงแต่ไม่มีใครรู้ว่าควรเริ่มจากจำนวนใด’ (หน้า 72) ตัวความตายดูจะเป็นการพ้นไปจากความทุกข์และการถูกทอดทิ้ง มีเพียงผู้ดำรงอยู่เท่านั้นที่รอเวลานับถอยหลัง ในสภาพความสัมพันธ์แปลกเปลี่ยวต่อครอบครัวและสังคม กระทั่งกับตัวเวลาและสถานที่ แต่การตระหนักนี้ก็ไม่ได้ทำให้เขาลุกขึ้นมาทำอะไร เพียงดำเนินชีวิตอย่างที่เคยทำต่อไป และ ‘อ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่เสนอเรื่องราวแปลกๆ ของเมืองที่เขาอยู่’ (หน้า 72) ฉากที่ปรากฏนี้เอง ทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงบ่วงบาปของความดูดาย ประหนึ่งเรา ‘กำลังอ่านภาพปรากฏที่เสนอเรื่องราวแปลกๆ ของเมืองที่เขาอยู่’ ซ้อนทับกันอยู่ในที สุดท้ายยังมีเสียงหัวเราะเยาะปริศนากำกับชีวิตของเขาอีกด้วย

ฆาตกรรม เล่าถึงภาพชีวิตสามัญของครอบครัวหนึ่งซึ่งพาลูกๆ ออกไปดูหนังในวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่แล้วผู้พ่อถูกชายนิรนามสามคนลักพาไปท้ายตรอกและฆ่าทิ้งเสีย เรื่องสั้นนี้เหมือนพยายามตั้งคำถามกับความสมเหตุสมผลของสองเหตุการณ์ ภายในเรื่องแบ่งออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งเกี่ยวกับฉากชีวิตในครอบครัว ส่วนหนึ่งเกี่ยวกับฉากฆาตกรรม เมื่อวางเคียงกันในเรื่องเดียว จึงเกิดข้อกังขาถึงความขัดแย้งและสมเหตุผล ไม่เพียงแต่ผู้อ่านเท่านั้นที่กังขา ตัวละครผู้พ่อซึ่งตกอยู่ในสภาวะดังกล่าวก็กังขาต่อปรากฏการณ์นี้เช่นเดียวกัน เรื่องนี้ผู้ประพันธ์วางตัวเสมือนหนึ่งแพทย์ผ่าตัด ทั้งชำแหละและตัดแต่งเหตุการณ์ เพื่อวินิจฉัยบริบทหลากหลาย ดังว่าความตายนั้นมีหลากหลายรูปแบบ แต่หลากหลายรูปแบบนั้นขึ้นตรงต่อความตายหนึ่งเดียว

การเดินทาง เล่าถึงชายหนุ่มหญิงสาวคู่หนึ่งลักลอบมีสัมพันธ์กัน ทั้งๆ ที่ต่างฝ่ายมีสามีภรรยากันอยู่แล้ว เรื่องเกิดขึ้นในรถโดยสารในสภาพจอดตายบนถนนอันเกิดจากอุทกภัย เวลาที่ยืดยาวหาความแน่นอนไม่ได้ เสมือนหนึ่งตกอยู่ในสภาพนิรันดร์ เปลี่ยนบริบทของคนทั้งคู่ที่มักลับลอบเจอกันเพียงชั่วเวลาสั้นๆ เสมอมา ให้ก้าวข้ามเส้นความลับสู่การเปิดเผย โดยมีอุทกภัยที่ตัดขาดพวกเขาที่นี่ต่อที่อื่นๆ เป็นปัจจัยสำคัญ ภัยธรรมชาติ (เครื่องมือหนึ่งของความตาย) ‘ได้ลวงทั้งสองด้วยความหวังว่า มันอาจเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องปกปิดใครอีกต่อไป’ (หน้า 88) ทว่าความตายกลับมีวิถีทางที่เหนือว่า คือเลือกให้ทั้งสองมีชีวิตต่อไป อยู่กับความไม่ซื่อสัตย์ กับความอับอายของพวกเขาเอง – นี่จึงเป็นอีกวิธี (เช่นเดียวกับเรื่อง ภาพปรากฏ) ที่ความตายหัวเราะเยาะการมีชีวิต

อีกเรื่องที่ยังไม่มีชื่อ เล่าถึงเด็กหนุ่มจอมโกหกแม่ เพื่อขอเงินไปเที่ยวเตร่และใช้ชีวิตอยู่กับหญิงสาว ที่คนทั่วไปมองเธอว่าเป็นคนใจง่าย แต่สำหรับเขา เธอเป็นคนซื่อสัตย์ต่อตัวเอง เขานำเงินที่ได้จากการโกหกแม่ไปเที่ยวทะเลกับเธอสามคืนสองวัน ในวันเดินทางกลับเธอบอกเขาว่า การมาเที่ยวครั้งนี้ไม่มีความหมายใดๆ กับเธอเลย ชั่วขณะนั้นเองความหมายของชีวิตปรากฏตัวในรูปเศษเสี้ยวความทรงจำแสนงามในวัยเยาว์ และความหมายนี้จะอยู่ในฐานะความทรงจำตลอดไป เมื่อต่อมาแม่ของเขาตายจาก เขาถูกบริภาษว่าเป็นคนล้มเหลวของครอบครัว และนับตั้งแต่วันที่แม่ตาย ความหมายทางการดำรงอยู่ของเขาคือการสารภาพคำโกหกต่างๆ ที่แท่นบูชาแม่ของเขา

อนาลัย เล่าถึงชายหนุ่มคนหนึ่งผู้มีอดีตอันลับเร้น แม้แต่ภรรยาของเขาเองก็ไม่สามารถหยั่งถึงได้ จนวันหนึ่งอดีตเดินทางมาหาเขาในฐานะความตาย เมื่อได้ทราบข่าวการตายของเพื่อนสนิทคนหนึ่งจากคำบอกเล่าทางโทรศัพท์ของอดีตคนรัก เขาจึงเดินทางเพื่อไปร่วมงานศพ ที่ๆ เขาเดินทางไปนั้นบ่งชัดว่าเป็นพื้นที่อันตรายทางภาคใต้ ซึ่งมีการลอบวางระเบิดให้เห็นอยู่รายวัน เขาเข้าพักโรงแรมชั้นสองที่นั่น โดยมีอดีตคนรักอำนวยความสะดวกอยู่ไม่ห่าง อดีตทั้งมวลที่เขาเคยมีอยู่ที่นี่ กลายสภาพเป็นความว่างเปล่าไร้ความหมาย เมื่อพื้นที่แปรเปลี่ยนเป็นที่อื่นไปเสียแล้ว

ภาพเสนอในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ เหมือนชี้ให้เห็นว่า กระบวนการหลอมเหตุการณ์เร้าใจให้กลายเป็นเรื่องสามัญดาษดื่น ภาวะดูดายและเฉยชาซึ่งอัดแน่นด้วยความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวในจิตใจ กับการไร้ความสามารถที่จะรู้สึกรู้สาต่อเสี้ยวเหตุการณ์ที่เข้ามาจู่จับตัวละครนั้น เป็นบาปชนิดหนึ่ง บาปของความสามัญ ความชาชินต่อการเมินเฉยในเหตุการณ์น่าตระหนกหรือรู้สึกต่อสิ่งเร้ากระทบใจ หากแต่แสดงออกอย่างงันเงียบ สงวนท่าที อันสะท้อนให้เห็นการไร้ความสามารถที่จะแสดงความรูสึก จนบรรยากาศ ฉาก และสถานที่ ต้องยื่นมือเข้ามาก่อสถานการณ์ (ในนามของชะตากรรมที่ตัวละครต้องเผชิญหน้า) และอีกครั้ง จนถึงที่สุด เหล่าตัวละครก็สมยอมให้ชะตากรรมจัดที่ทางของเขา/เธอตามแต่ต้องการ เหมือนตระหนักว่า ตนเองมีอำนาจในฐานะมนุษย์คนหนึ่งก็เพียงแค่ ตระหนักถึงโมงยามงามงดเล็กจ้อย ในเสี้ยวหนึ่งใดของชั่วชีวิต ต่อชั่วขณะที่ตนกำลังจะตายจากในสถานที่ซึ่งสุดท้ายแล้ว (ไม่ว่าจะคุ้นชินหรือแปลกหน้า) ได้เป็น ‘ที่อื่น’ สำหรับเขา/เธอไปแล้ว

หากความสามัญเป็นบาป และกรรมที่ต้องใช้ชีวิตเวียนว่ายจนกว่าความตายจะโผล่หน้ามาหา ประการหนึ่ง การเลือกไม่แสดงความรู้สึกใดๆ ของตัวละคร อันเป็นพฤติกรรมโต้ตอบต่อเหตุการณ์ในเรื่อง (ที่จริงเลือกแสดงด้วยท่าทีเมินเฉย เย็นชา โดยผ่านกระบวนการรับรู้ของตัวละครแปลงเรื่องตื่นใจให้เป็นเพียงเรื่องสามัญ) ก็ถือเป็นความสามานย์ด้วยประการหนึ่งเช่นกัน

เมื่อตัวละครในรวมเรื่องสั้น ในฐานะภาพแทนของมนุษย์ ล้วนมีบาปและความสามานย์ประจำตัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พวกเขา/เธอจึงตกอยู่ในฐานะโดดเดี่ยวตัวเอง เป็นผู้ถูกทอดทิ้ง เป็นคนอ้างว้างว่างเปล่ามาตลอดชีวิต ด้วยไม่รู้เป้าประสงค์ตัวเองประการหนึ่ง ไม่ต่อสู้หวงแหนสร้างความพึงใจในชีวิตตัวเองประการหนึ่ง พวกเขาจึงเป็นเสมือนวิญญาณในร่างเปล่าไร้สัณฐานเฉพาะ วนเวียนเป็นวัฏฏะอยู่ในภาพชีวิตแสนสามัญซึ่งไหลเคลื่อนไปตามแผนผังใหญ่ทางสังคม ในฐานะประชากรตัวเล็กๆ อันมีหน้าที่พึงมีในการเติมเต็มภาพผาสุกของสังคม ความพึงเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ พึงมีงานการทำ พึงมีครอบครัวและซื่อสัตย์ต่อกันและกัน พึงใส่ใจบุตรและดูแลบุพการี ฯลฯ ภาพสามัญเหล่านี้คือสถานะพื้นฐานที่หลากตัวละครไร้รูปพรรณสัณฐานยืนอยู่ เป็นอยู่ ดำรงอยู่ และน้ำเสียงในเรื่องสั้นแต่ละเรื่องก็ส่อชัดเจนว่า เขา/เธอทำสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นไปเองตามกรอบข้อกำหนดที่มีอยู่เดิมแล้ว ไม่ใช่ความต้องการแท้จริงของพวกเขา เป็นสิ่งพึงปฏิบัติซึ่งห่างไกลจากสิทธิและความต้องการที่พวกเขาพึงมี และในหลายๆ ครั้งตัวละครก็เฉยชาเกินกว่าจะเรียกร้อง ด้วยพวกเขาเรียนรู้การดำเนินชีวิตได้รูปแบบเดียวคือ แผดเผาภาพฝันของตนให้กลายเป็นความดาษดื่นสามัญทางสังคม

หรืออีกนัยหนึ่ง แผดเผาภาพฝันของตนให้กลายเป็นบาปทางการดำรงอยู่ ตัวละครแต่ละตัวล้วนต่างมีโมงยามลับเร้นด้านความพึงใจในความไม่ซื่อสัตย์ คิดนอกลู่ ดูดาย (ทั้งต่อตนเอง คนใกล้ชิด และคนแปลกหน้า) ดั่งพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตนี้ เป็นเครื่องมือในการก่อขบถทางสังคม ตีรวนศีลธรรม ก่อบ่วงบาปล่อหน้าเพื่อให้ความตายมองเห็นและมารับตัวเขา/เธอไปจากที่นี่

ภาพชีวิตเหล่านี้ผู้อ่านพอจะย้อนโยงสืบสาวกลับไปได้ โดยที่ผู้ประพันธ์เพียงเลือกเสนอเหตุการณ์เล็กๆ เหตุการณ์หนึ่ง อันเป็นเสมือนจุดสรุปของตัวละครแต่ละชุด และกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ความตายที่ตัวละครในบางเรื่องสั้นได้มา (หรือถูกหยิบยื่นให้) ยังดีเสียกว่าการรอดพ้นจากเงื้อมมือของความตาย ดังว่าถูกเลือกให้ดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปภายใต้ความเปล่าดายของจิตใจ และวัฏฏะชีวิตเดิมๆ อันถูกโอบล้อมด้วยคนสามัญเปี่ยมบาปและความสามานย์ ความตายในรวมเรื่องสั้นชุดนี้จึงเป็นการหลุดพ้นไป ในฐานะของการเกิดใหม่ การเคลื่อนจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง เป็นการเคลื่อนจาก ‘ที่นี่’ ไปยัง ‘ที่อื่น’ ในทางกลับกัน ตัวละครที่อยู่ในมือของความตาย ก่อนดับสูญ เขา/เธอบังเกิดภาพปรารถนาชุดหนึ่งวาบขึ้นในสำนึกก่อนตาย เป็นความหมายรู้ถึงสิ่งที่ตนระลึกแล้วพึงใจ ในขณะของเหตุที่ทำให้ตายอาจน่าสยดสยองต่อการรับรู้ของผู้อ่าน ทว่าตัวละครที่ตายกลับเข้าสู่ภาวะสันติสุข ภาพขัดแย้งนี้เอง ทำให้ตัวละครรู้สึกกลับทิศกับผู้อ่าน เขา/เธอตายจากพื้นที่นี้ โลกนี้ ในฐานะเป็น ‘ที่อื่น’ ไปอยู่โลกอื่น ภพอื่น ในฐานะเป็น ‘ที่นี่’ ของเขา/เธอ

ภาพเปรียบดังกล่าวนี้ชี้ชวนให้นึกถึง ตามความเชื่อของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก ภาพชีวิตสามัญอันติดอยู่ในบ่วงวัฏฏะเวียนว่ายนี้ ผู้ประพันธ์นำเสนอดังว่าอยู่ในฐานะห้วงยามกลียุค (Apocalypse) ทุกสิ่งตั้งอยู่และค่อยๆ เสื่อมพัง ภายใต้สถานที่ไร้ชื่อ ผู้คนไร้นาม ดังถูกหลงลืมและทอดทิ้ง (Limbo) ทางรอดพ้นทางเดียวคือความตาย เดินทางสู่สถานที่รับโทษทัณฑ์ก่อนขึ้นสวรรค์ (Purgatory) หากเลือกได้ระหว่างสภาวะของสองสถานที่ Limbo – การต้องเวียนว่ายในบาปและความสามานย์ซ้อนซ้ำชั่วนิรันดร์อย่างถูกทอดทิ้ง กับ Purgatory – ความตายที่เคลื่อนย้ายไปสู่อีกที่ก่อนขึ้นสวรรค์ อย่างหลังดูจะเป็นทางเลือกที่เย้ายวนกว่า

ผู้เขียนบทความเข้าใจว่าผู้ประพันธ์มองภาพเปรียบนี้ในฐานะที่เป็นความหมายสากล อย่างไม่จำกัดข้อแตกต่างทางศาสนาและภูมิภาคประเทศ

อนาลัย ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่าไว้: การไม่มีที่อยู่; การหมดความอยาก, การหมดความพัวพัน; ชื่อหนึ่งของพระนิพพาน ส่วน ที่อื่น คือ ไม่ใช่ที่นี่ ไม่ใช่ตรงนี้ คำว่าอนาลัยกับที่อื่นมองผิวเผินมีความหมายคล้ายคลึงกัน แต่อนาลัยมีความหมายทางธรรมมากกว่า คือการสิ้นและหมดแล้วซึ่งความอยาก พัวพัน และตำแหน่งเหยียบยืน เป็นความว่างและไม่มีอื่นใด ในขณะที่ ที่อื่น มีความหมายทางโลกย์ เป็นการเปลี่ยนบริบทและเคลื่อนย้ายของตัวตนกับสถานที่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งอย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งสามารถมองได้ความหมายเดียวกันกับสภาวะถูกทอดทิ้ง ถูกหลงลืมอยู่ในเขตแดนไร้นาม (Limbo) ตามคริสต์ศาสนา

ตามคำนำในหนังสือรวมเรื่องสั้นที่อื่น ผู้ประพันธ์หมายใช้ชื่ออนาลัยเป็นชื่อเล่ม แต่ได้เลือกชื่อที่อื่นแทน ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพชีวิตของหลากตัวละครที่ยังเวียนว่ายอยู่ในบ่วงบาปนิรันดร หาได้พ้นไปสู่สภาวะว่างไม่มีที่อื่นใดได้อย่างแท้จริง ที่อื่นเรื่องสั้นชื่อเดียวกับชื่อเล่ม สะท้อนภาวะแปลกเปลี่ยว และการถูกชักพาไปเผชิญหน้ากับความเป็นคนอื่น/ที่อื่น และจุดเริ่มต้นของการเข้าไปพัวพันกับปรากฏการณ์อื่นๆ ต่อไปไม่รู้จบ ในขณะที่เรื่องอนาลัย ส่งสารถึงผู้อ่านอย่างเข้มชัด สมบูรณ์ ทั้งความหมายตรงตัวและนัยความหลบเร้น อันเป็นตัวสรุปความของรวมเรื่องสั้นชุดนี้

เรื่องสั้นอนาลัยสะท้อนความสมบูรณ์ทางการวิพากษ์สภาวะความเป็นที่อื่นได้อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อเอาสภาวะนามธรรมแปลกเปลี่ยวของตัวละครไปยืนอยู่ในตำแหน่งความขัดแย้งทางดินแดนภาคใต้ ซึ่งช่วยสื่อความได้อย่างมีประสิทธิภาพและทรงพลัง ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว เรื่องสั้นชิ้นนี้ยังมีนัยและรหัสสำคัญยิ่งในการสะท้อนทัศนคติ แนวความคิด และกระบวนการ ที่ผู้ประพันธ์มีต่อเรื่องเล่าของเขา

น้ำเสียงเล่าเรื่องของผู้ประพันธ์ที่วางตัวอยู่ห่างๆ ทว่าคอยกำกับเหตุการณ์อยู่ในทีนั้นทั้งเยียบเย็นและเฉยเมย เปรียบเหมือนแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดช่วยชีวิตคนไข้ เขายุ่งอยู่กับความเป็นความตาย กำลังช่วยชีวิตคน แต่ก็สงวนท่าทีต่อการสร้าง/ให้ชีวิตคนไข้ (ในฐานะตัวละคร) อย่างทรงภูมิ ทว่าตัวละครของเขาซึ่งมีความธรรมดาสามานย์อย่างผิดแปลก เป็นชีวิตที่เย็นชา ดูดาย และอมพะนำ กลับทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงความเปราะบาง อ่อนไหว ต่อการไร้ความสามารถที่จะรู้สึกหรือจัดการสิ่งใดๆ ในชีวิตได้อย่างเข้มข้นสะทกสะท้อน

เรื่องราวทั้ง 12 เรื่องดูเหมือนมุ่งไปสู่จุดจบสองทางเป็นผลสุดท้าย ไม่จบลงที่ความตาย ก็ถูกทอดทิ้งให้อยู่ที่นี่ในสภาพชำรุดเสื่อมถอย เป็นความหดหู่ที่จู่จับผู้อ่านจนอาจเกิดคำถามได้ว่า ไม่มีทางออกอันเป็นแสงสว่างแห่งความหวังของการดำรงชีวิตให้คว้าจับได้บ้างหรือ ต่อคำถามนี้ มันได้เผยมูลเหตุสำคัญกระจัดกระจายตามแต่ละเรื่องสั้น เฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องอนาลัย

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า รวมเรื่องสั้นเล่มนี้เล่นกับการโยกย้ายยอกย้อนทางบริบทของความหมายคำว่า ‘ที่อื่น’ ไม่เพียงสภาวะที่ตัวละครต้องประสบกับปรากฏการณ์และพื้นที่ต่างๆ เท่านั้น แต่ความเป็นที่อื่นยังจงใจเล่นย้อนความหมายกับผู้อ่านผ่านทางตัวเรื่อง ผู้เขียนบทความเกริ่นไว้แล้วว่า เรื่องราวที่ตัวละครเหยียบยืนอยู่แม้ไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นที่ไหน แต่เรารู้แน่ชัดว่ามันเป็นพื้นที่ในประเทศไทย แถบชานเมือง กับภาพวิถีสามัญที่หลากตัวละครดำเนินไปที่ผู้อ่านคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพียงแต่ปรากฏการณ์แปลกๆ กับการตัดสินใจที่คาดไม่ถึงของตัวละครและเหตุการณ์เท่านั้น ที่ทำให้แต่ละเรื่องดูพิกล ไกลหน้า แปลกตาไปจากความรู้สึกของผู้อ่าน บังเกิดสภาวะสังเกตการณ์ ‘ที่อื่น’ จากเนื้อเรื่องที่กำลังอ่านอยู่

สภาวะเป็นที่อื่นนี้ สำหรับตัวละครหมายถึงการถูกทอดทิ้งและตายดับไปอย่างสิ้นไร้คุณค่า แต่สำหรับผู้อ่านแล้ว สภาวะความเป็นที่อื่นนี้เอง คือทางรอดของความหวังที่ผู้อ่านจะครอบครองความหมายได้

เพราะรวมเรื่องสั้นที่อื่น นำเสนอตัวมันเองในฐานะมหรสพชุดหนึ่ง มันเป็นเรื่องเล่า เป็นภาพแสดง เป็นสิ่งที่ถูกจัดสร้างขึ้น เพื่อวาระหนึ่ง เป็นความบันเทิงเริมรมย์ในโศกนาฏกรรมอันชวนสังเวชตามแบบอย่างโศกนาฏกรรมกรีกและละครเวที รวมเรื่องสั้นที่อื่นบอกผู้อ่านอย่างชัดแจ้งว่า มันเป็นเพียงเรื่องแต่ง เป็นการจัดแสดงขึ้น ทั้ง 12 เรื่องสั้นรักษาระยะห่างกับผู้อ่านพอสมควร ความรู้สึกร่วมที่ผู้อ่านมีต่อรวมเรื่องสั้นชุดนี้ มิใช่การถูกดูดดึงด้วยตัวเรื่องในฐานะภาพเสนอที่ผู้อ่านอาจมีอารมณ์และประสบการณ์ร่วมกับมัน แต่เป็นภาพแสดงที่ผู้อ่านยังรู้สึกตัวถ้วนทั่วในฐานะเป็นเพียงเรื่องแต่ง สังเกตการณ์ความเป็นไป ดังเช่นเรามองการแสดงบนเวที

หลักฐานสำคัญต่อข้อเสนอนี้ สังเกตได้จากบริบทของแต่ละเรื่องสั้น อันถูกจำกัดด้วยพื้นที่เฉพาะพื้นที่หนึ่ง ปรากฏการณ์ (หรือสถานการณ์) สั้นๆ ชุดหนึ่ง ตัวละครไม่กี่ตัวที่อวดแสดงการกระทำของเขาในกาลเทศะนั้นๆ แต่ละเรื่องสั้นมีกรอบๆ หนึ่งกำหนดสายตาผู้อ่านให้มอง พ้นไปจากกรอบนั้นเป็นความไม่มีสิ่งใด อุปลักษณ์นี้เสมือนเกิดขึ้นและจบลงบนเวที มากไปกว่าข้อสังเกตเบื้องต้นนี้แล้ว ผู้อ่านยังสังเกตได้จากการเลือกใช้คำ รูปประโยค และรูปแบบของชุดเหตุการณ์ เพื่อสื่อนัยดังกล่าว

เรื่องที่ขโมยมา บอกว่าตัวมันเป็นเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า เรื่อง การแสดง บอกให้ผู้อ่านรู้ตั้งแต่ชื่อเรื่อง และการเอาตัวเข้าไปอยู่ในเวทีชีวิตของหญิงแปลกหน้าของชายผู้หนึ่ง เรื่องคืนหนึ่ง คือภาพเสนอชีวิตดำเนินอยู่สองฉาก ฉากสามัญกับฉากฆาตกรรม และสุดท้ายแล้วฉากฆาตกรรมได้แปรสภาพเป็นมหรสพผ่านภาพข่าวทางทีวี เรื่อง ฆาตกรรม เล่นกับการแปรสภาพเรื่องเล่าให้เป็นฉากฆาตกรรม ส่วนอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้เอ่ยชื่อล้วนเป็นภาพปรากฏในฐานะฉากๆ หนึ่งบนเวที กับการพยายามฉายฉานเหตุการณ์สามัญซึ่งถูกจู่จับโดยความตายและการสูญเสียหลากหลายรูปแบบ

‘ชั่วขณะนั้นเขารู้สึกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดูไม่จริงเอาเสียเลย ความตายเบื้องหน้าเขาชัดเจนเกินกว่าจะเป็นเรื่องจริง มันเป็นเหมือนมหรสพที่จงใจจัดแสดงขึ้น เพื่อให้เขาเพ่งมองผ่านหน้าต่างบานนี้’ (อนาลัย, หน้า 102)

รูปประโยคที่ยกมานี้ บอกชัดเจนถึงสิ่งที่ดำเนินไปในเรื่องเล่า ตัวละครเองก็สงสัยตำแหน่งที่ยืนของเขา

‘เขายืนอยู่บนถนนดินที่ฟากหนึ่งของไหล่ทาง เป็นทางลาดลงไปสู่คูน้ำเล็กๆ มองจากอีกด้านของคูน้ำ ถนนดินจะแลดูคล้ายกับเป็นพื้นเวทีที่ยกสูงขึ้น ใครที่ทอดสายตามองจากจุดนั้นก็จะเหมือนกับกำลังดูละครชีวิตของเขาที่เริ่มต้นเล่นในสถานที่แห่งนี้’ (อนาลัย, หน้า 103)

ทั้งนี้เพื่อส่งมอบให้ผู้อ่านฉุกใจว่า มันกำลังเกิดขึ้น ดำเนินไป ผ่านมุมมองที่คัดกรองแล้วของผู้กำกับ (ผู้ประพันธ์) ที่ไม่ประสงค์ออกนาม

เมื่อพื้นที่ถูกจัดสร้างขึ้นหรือเตรียมไว้ แล้วนำตัวละครมาวางลงบนพื้นที่/เวทีนั้นๆ ผู้อ่านมองเห็นการแสดงผ่านการกระทำของตัวละครที่ต้องลงมือ ‘ด้นสด’ (Improvise) กับพื้นที่/เวทีนั้นๆ ผลที่ได้ ผู้อ่านจึงเห็นวิธีตอบโต้ผิดแปลก ขณะตัวละครกำลังเริ่มต้นชีวิตบนพื้นที่/เวที เขา/เธอไล่รื้อย้อนความทรงจำ ภาพอดีต ต่างๆ ขึ้นมา ในฐานะเป็นเครื่องมือจัดการกับสถานการณ์ในปัจจุบันขณะ ซึ่งสะท้อนให้เห็นการจัดการอันเป็นวิธีสามานย์แสนเปล่าดายกับการรับมือพื้นที่/เวที ที่ความตายอำนวยการสร้าง เหตุใดความตายจึงสำคัญ เพราะความตายกระตุ้นให้ตัวละครขับสัญชาตญาณ หรือธาตุแท้ในตัวมนุษย์ (ตัวละคร) ออกมาอวดแสดงได้อย่างเปิดเปลือยที่สุดนั่นเอง นี่จึงสะท้อนให้เห็นว่า ทำไมรวมเรื่องสั้นที่อื่น จึงเอาความตายมาเป็นธุระนัก

‘เขารู้สึกว่าเรื่องเล่าในลักษณะนี้มีจุดจบเหมือนๆ กันคือลงเอยที่ความตาย พร้อมกับความรู้สึกที่เศร้าสร้อยและหดหู่ แต่ในทางกลับกันเรื่องเล่าทำนองนี้ทำให้คนตายกลับมามีชีวิตอีกครั้ง อย่างน้อยก็ในความทรงจำของคนที่ยังต้องอยู่ต่อไป’ (หน้า 100)

ผู้ประพันธ์ประสบความสำเร็จสองทาง นอกจากจะสะท้อนวิถีชีวิตว่างเปล่า สมยอม ดูดาย เคลื่อนไหลไปตามแต่ขนบสังคมจะพัดพาไปได้อย่างชัดเจน (ชัดเจนเกินกว่าจะเป็นเรื่องจริง) ยังได้ใช้คุณสมบัติและคุณประโยชน์ของเรื่องเล่า เรื่องแต่ง (มหรสพที่จงใจจัดแสดงขึ้น) สะท้อนถึงความหวังของชีวิต ชีวิตทุกผู้ซึ่งสุดท้ายจบลงที่ความตาย (ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร ผู้แต่ง ผู้อ่าน) ความหวังที่ว่านั้นคือ หวังใจให้ผู้อ่านตระหนักถึงความดูดายของตัวละคร เพื่อรู้ตัวตื่นอยู่ตลอดเวลา ในการ ‘มีอยู่’ ของชีวิต ณ ปัจจุบันขณะนั่นเอง.

No comments: