ที่นี่ฉงนฉงาย ที่ไหนฉลาดเฉลียว - "ที่อื่น"

บทวิจารณ์โดย วรวิช ทรัพย์ทวีแสง อ้างจากหมดปัญญา

กล่าวได้อย่างโดยรวมว่า รวม 12 เรื่องสั้น ‘ที่อื่น’ นั้น ได้นำภาษาอันเรียบง่ายธรรมดามาให้ออกมาในบริบทที่ซับซ้อน ซึ่งทำให้ยากต่อการทำความเข้าใจ อาจต้องใช้สมาธิอย่างสูงในการอ่านเพื่อเรียบเรียงเหตุการณ์ที่แสนจะธรรมดานั่นออกมาได้อย่างปะติดปะต่อ

การทำให้เรื่องราวธรรมดาให้กลับน่าสนใจขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่ต้องใช้ทักษะในการเรียบเรียง เพื่อได้เรื่องราวที่น่าติดตามและชวนผู้อ่านให้ได้เห็นมุมและประเด็นใหม่ของเรื่อง หรืออาจจะรวมความไปจนถึงการตีความด้วย เหมือนอย่างที่ ‘วาด รวี’ ผู้รับหน้าที่บรรณาธิการของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ได้กล่าวชวนให้ผู้อ่านตีความไว้ดังนี้

“…รวมเรื่องสั้น ที่อื่น ที่ท่านกำลังจะได้อ่านนั้น ผู้เขียนเคยคิดจะใช้อีกชื่อหนึ่ง คือ อนาลัย แต่ไม่รู้ผู้เขียนนึกอย่างไรจึงกลับมาใช้ชื่อ ที่อื่น ซึ่งเป็นชื่อเดิมอีกครั้ง แต่ไม่ว่าจะเป็น ที่อื่น หรือ อนาลัย ล้วนเป็นชื่อที่ต้องตีความ…”

การตีความนั้นจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานที่เข้าใจเนื้อความของเรื่องนั้นเสียก่อน แล้วจึงนำเนื้อความนั้นมาขบคิดและตีความต่อความหมายที่แฝงไว้ หากแต่รวมเรื่องสั้น ‘ที่อื่น’ ได้สร้างอุปสรรคแก่ผู้อ่านในการเข้าใจเนื้อความเบื้องต้น ผู้อ่านบางท่านอาจอ่านไม่รู้เรื่องเอาเสียเลย ซึ่งการจะทำความเข้าใจกับเนื้อความที่ผู้เขียนต้องการสื่อสาร ผู้อ่านต้องนำเรื่องราวเหล่านั้นมาเรียบเรียงในจินตนาการของผู้อ่านเองเสียใหม่อีกครั้ง

เมื่อผู้อ่านทราบเนื้อความต่างๆ ชัดเจนดีแล้ว เนื้อความเหล่านั้นก็มิได้มีการดึงดูดให้ผู้อ่านได้ตีความแต่อย่างใด เป็นเพียงเนื้อความเรียบๆ ง่ายๆ ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมเมือง หรือจะเกิดขึ้นในบ่ายวันหนึ่ง ที่ร้านอาหารเศร้าๆ แห่งหนึ่งริมทางหลวงก็ได้ทั้งนั้น ซึ่งทำได้เพียงแค่ชวนให้ผู้อ่านเกิดความสงสัยเท่านั้น ว่าเหตุใดต้องเป็นเวลาบ่าย เหตุใดต้องเป็นในร้านอาหาร ร้านอาหารเศร้าๆ นั้นเป็นอย่างไร ทำไมต้องอยู่ริมทางหลวง เพราะมันอยู่ริมทางหลวงหรือมันจึงได้เศร้า เป็นต้น

เรื่องของการตีความนั้นขึ้นอยู่กับผู้เขียนว่าจะมีความสามารถในการแฝงความหมาย เพื่อตอบรับกับการตีความของผู้อ่านได้มากน้อยเพียงใด มิใช่แค่การสร้างความงุนงงสงสัยให้ผู้อ่านเพียงเท่านั้น

เรื่องราวใน ‘ที่อื่น’ นั้นไม่ได้ระบุว่าเกิดขึ้นที่ไหน ไม่มีแม้แต่ชื่อตัวละคร เป็นแต่เพียงคำสรรพนาม ‘เขา’ และ ‘เธอ’ ที่นอกเหนือจากนั้นจะบ่งบอกด้วยสถานะที่ตัวละครนั้นเป็น เช่น พ่อ, แม่, สามี, ภรรยา, เพื่อน, ตำรวจ, ทหาร, พนักงาน ฯลฯ แต่ละเรื่องสั้นได้พูดถึงความสัมพันธ์ของคน ความรัก ความตาย ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนไม่ว่าสังคมใดๆ ต้องพบเจอ โดยผู้เขียนได้เน้นไปที่มุมมองของชนชั้นกลางซึ่งเห็นได้ชัดเจนในเรื่องสั้นทั้ง 12 เรื่อง มีความเป็นไปได้ว่า ‘ที่อื่น’ แห่งนั้นคือ ‘โลกของชนชั้นกลาง’

เมื่ออ่านไปจนถึงเรื่องสุดท้ายแล้ว (เรื่อง ‘อนาลัย’) มีความโน้มเอียงทำให้ผู้อ่านคิดถึงเหตุการณ์ไม่สงบในภาคใต้ของประเทศไทยเรา แต่มิได้มีการระบุไว้เป็นข้อความหรือหลักฐานทางอักษรว่าผู้เขียนหมายความถึงเหตุการณ์ไม่สงบในภาคใต้ของไทย ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเรื่องสั้นทั้ง 11 เรื่องเป็นเพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่ใดๆ เพราะไม่ระบุไว้ และไม่ชวนให้คิดถึงเหตุการณ์ใดๆ ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งโดยเฉพาะ

เรื่อง ‘อนาลัย’ นั้นได้ตีกรอบจินตนาการผู้อ่านเพื่อให้นำไปเติมลงในช่องว่างของเรื่องสั้นทั้ง 11 เรื่องก่อนหน้า คือ เรื่องทั้งหมดในเรื่องสั้นทั้ง 12 เรื่องอาจเกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทย หรือ เกิดในส่วนต่างๆ ของประเทศไทยนี่เอง

ซึ่งเมื่อผู้อ่านเป็นคนไทยได้อ่านรวมเรื่องสั้น ‘ที่อื่น’ ก็เป็นไปได้ง่ายที่จะคิดถึงสถานที่ใกล้ๆ ตัวอย่างแถวบ้าน หรือแถบจังหวัดของตัวเองอยู่แล้ว

เป็นไปได้ยากมากที่ผู้อ่านจะได้คิดถึงคำว่า ‘ที่อื่น’ ในความหมายของสถานที่ใดๆ ที่อาจมีหรือไม่มีอยู่จริง แม้เพียงให้ผู้อ่านคิดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในส่วนใดๆ ของโลกก็เป็นไปได้ยากเช่นกัน

แต่มันได้มีการตีกรอบจินตนาการของผู้อ่าน(อย่างน้อยก็ผู้อ่านที่เป็นคนไทย)ให้แคบลงไปอีก ด้วยเรื่องสั้นเรื่องสุดท้าย ‘อนาลัย’ ซึ่งไม่ควรจัดรวมอยู่ในเล่มนี้ที่สุด

ปัญหาและความคิดเหล่านั้นไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นที่ใดก็ตาม สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ มันได้เกิดอะไรขึ้น แล้วส่งผลอย่างไรต่อผู้อ่าน ผู้อ่านสามารถจะรู้สึกได้แค่ไหน แล้วผู้เขียนเองได้เอื้อให้ผู้อ่านตีความเนื้อความเหล่านั้นมากน้อยอย่างไร

ในบรรดาเรื่องสั้นทั้ง 12 นั้นโดยตัวเนื้อเรื่องแล้วให้อารมณ์ต่างๆ กัน แต่ด้วยภาษาของผู้เขียนและการสร้างบริบทที่ใส่ความ ‘คิดมาก’ ลงไปอย่างเบียดแน่นของทุกประโยค ทำให้อารมณ์ของเรื่องสั้นทั้ง 12 นั้นออกมาในแนวเดียวกัน เป็นเสียงเล่าของผู้ที่รู้ที่เห็นทุกสิ่ง มีความฉลาดปราดเปรื่อง อาจเรียกได้ว่าเป็นเสียงเล่าของ ‘พระเจ้า’ ทำให้ในบางอารมณ์ก็แยกไม่ออกว่ากำลังอ่าน ‘คำเทศนา’ หรือ ‘เรื่องราว’ กันแน่

ผู้เขียนมีความโดดเด่นในด้านความคิดอันบรรเจิด หากได้สอดแทรกความคิดเหล่านั้นอย่างพอเหมาะพอเจาะและเติมความมีชีวิตของตัวละครให้โดดเด่นขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับความโดดเด่นของรูปแบบ จะทำให้งานของผู้เขียนมีความสมดุล และทำให้งานของผู้เขียนกระทบใจผู้อ่านได้มากขึ้น

No comments: